ปรับขนาดตัวอักษร

ปรับขนาดตัวอักษร

AA

ปรับสี

แสดงแบบตาราง

ปิด
เปิด
ปรับขนาดตัวอักษร
โลโก้ของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย

มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

FOUNDATION FOR THE BLIND IN THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF H.M. THE QUEEN

ผลิตภัณฑ์และบริการติดต่อมูลนิธิฯ
|

วัตถุประสงค์การก่อตั้ง

มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประกาศกระทรวงการคลังลำดับที่ 75 เป็นมูลนิธิฯ ที่ให้ความช่วยเหลือคนพิการแห่งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยมิได้หวังผลตอบแทน จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2482 มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

  • เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นทั้งชายหญิง โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา
  • เพื่อให้การศึกษาสายสามัญและการฝึกอบรมด้านอาชีพ เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางการเห็นสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข
  • เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้พิการทางการเห็น

เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ มูลนิธิฯ จึงมีการบริหารและขยายการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ออกเป็น 5 ส่วน คือโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดและศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน โดยมีสำนักบริหารมูลนิธิฯ เป็นศูนย์กลางประสานงาน มูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลืออย่างดีจากผู้ที่เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญในการหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้พิการทางการเห็น ทั้งในรูปแบบการบริจาคเงิน สิ่งของ และการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ นำมาซึ่งความหวังและโอกาสที่ดีแก่ผู้พิการทางการเห็น เพื่อช่วยให้เกิดแสงสว่างในชีวิต

วิดีโอเนื้อหามูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย

ประวัติและความเป็นมา

การก่อตั้งมูลนิธิฯ เกิดขึ้นจากแนวความคิดของ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ที่มีความมุ่งมั่นและต้องการช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็น และเห็นว่าประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีองค์กรใดให้ความสนใจช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็น จึงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นเป็นแห่งแรก ในประเทศไทย ณ บ้านเช่าหลังเล็ก ถนนคอชเช่ ศาลาแดง

โดยได้ร่วมกับนักศึกษาไทยประดิษฐ์อักษรเบรลล์ภาษาไทยขึ้น ต่อมามีผู้มีจิตกุศลช่วยเหลือและสนับสนุนร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิชื่อว่า “มูลนิธิช่วยให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาแก่ผู้พิการทางการเห็นตามสมควรแก่อัตภาพ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองและอยู่ในสังคมได้อย่าง คนปกติทั่วไปโดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ จำต้องวางมือจากงานเพื่อเดินทางไปญี่ปุ่น จึงได้ติดต่อขอนักบวชคณะซาเลเซียนมาช่วยบริหารงานแทน คณะซิสเตอร์ได้เข้ามาดูแลนักเรียนด้วยความเอาใจใส่ให้กำลังใจ ทำให้เด็ก ๆ มีกำลังใจต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ พิสูจน์ให้สังคมทั่วไปเห็นว่าพวกเขามีความสามารถในการเรียนรู้ และทำสิ่งต่าง ๆ ได้ เป็นเด็กมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ และมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีผู้ศรัทธาบริจาคเงินให้การสนับสนุนมากขึ้น ทำให้การศึกษาของเด็กนักเรียนผู้พิการทางการเห็นเจริญก้าวหน้าและมั่นคงยิ่งขึ้น คณะซิสเตอร์ได้มอบงานคืนให้มูลนิธิฯ ในปี พ.ศ. 2535

ในปี พ.ศ. 2502 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์” โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้บริหารงาน

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ให้การสงเคราะห์ผู้พิการทางการเห็น โดยตั้งอยู่ในหลักการที่ว่า การช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นนั้น มิใช่ช่วยเพียงการเริ่มต้นที่โรงเรียนเพื่อให้ได้รับการศึกษาเท่านั้น หากแต่ต้องช่วยพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสทางวิชาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงตนเอง โดยไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ จึงจะถือได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิฯ นั้น สัมฤทธิ์ผลโดยสมบูรณ์

มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ข้างต้นอย่างเคร่งครัดและโปร่งใสมาโดยตลอด จนได้รับคัดเลือกเป็นหน่วยงานดีเด่นของชาติประจำปี พ.ศ. 2542 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2482

กำเนิด "โรงเรียนสอนคนตาบอด"

พ.ศ. 2492

ทำพิธีวางศิลาฤกษ์

พ.ศ. 2494

พระราชทานหีบดนตรี

พ.ศ. 2495

บทเพลง “ยิ้มสู้”

พ.ศ. 2496

ทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียน

พ.ศ. 2500

เปิดอาคารเรียนชั้นมัธยม

พ.ศ. 2502

ทรงรับไว้อยู่ “ในพระบรมราชินูปถัมภ์”

พ.ศ. 2482

กำเนิด "โรงเรียนสอนคนตาบอด"

กำเนิด "โรงเรียนสอนคนตาบอด" และ "มูลนิธิช่วยและให้การศึกษา แก่คนตาบอดในประเทศไทย" (ชื่อเดิม) ริเริ่มก่อตั้งโดยมิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevieve Caulfield)

รูปภาพกำเนิดโรงเรียนสอนคนตาบอด

พ.ศ. 2492

ทำพิธีวางศิลาฤกษ์

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อนุมัติให้เช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ สี่แยกตึกชัย และทำพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหอพัก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมูลนิธิฯ และโรงเรียน

รูปภาพทำพิธีวางศิลาฤกษ์

พ.ศ. 2494

พระราชทานหีบดนตรี

29 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ และพระราชทานหีบดนตรี

รูปภาพพระราชทานหีบดนตรี

พ.ศ. 2495

บทเพลง “ยิ้มสู้”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง “ยิ้มสู้” แก่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ

รูปภาพบทเพลง “ยิ้มสู้”

พ.ศ. 2496

ทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียน

27 มกราคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียนที่มีความพิการทางการเห็น ซึ่งมูลนิธิช่วยและให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทยจัดขึ้น (ที่มา: หนังสือ 80 ปี หน้า 32)

รูปภาพทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียน

พ.ศ. 2500

เปิดอาคารเรียนชั้นมัธยม

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปทรงเปิดอาคารเรียนชั้นมัธยม โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ (ที่มา: หนังสือ 80 ปี หน้า 33)

รูปภาพเปิดอาคารเรียนชั้นมัธยม

พ.ศ. 2502

ทรงรับไว้อยู่ “ในพระบรมราชินูปถัมภ์”

มูลนิธิฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้อยู่ “ในพระบรมราชินูปถัมภ์”

รูปภาพได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

วิสัยทัศน์

"เป็นผู้นำในการส่งเสริมทักษะ พัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะของคนตาบอดในประเทศไทย ให้มีอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ให้สามารถอยู่ได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี อย่างยั่งยืน"

พันธกิจ

รูปภาพมุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี ดนตรี ภาษา และกีฬา สู่ความเป็นเลิศ

มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี ดนตรี ภาษา และกีฬา สู่ความเป็นเลิศ

รูปภาพมุ่งส่งเสริมการสอนและฝึกอบรมด้านอาชีพเพื่อให้เลี้ยงตนเองได้

มุ่งส่งเสริมการสอนและฝึกอบรมด้านอาชีพเพื่อให้เลี้ยงตนเองได้

รูปภาพมุ่งส่งเสริม และประสานงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

มุ่งส่งเสริม และประสานงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาทุกส่วนงานของมูลนิธิฯ ระหว่างปี 2566-2568

  • เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของมูลนิธิฯ สู่ความเป็นเลิศ
  • พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะความสามารถในทุกด้าน เพื่อสามารถพึ่งพาตนเองได้
  • นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและหลากหลายเข้ามาใช้มากขึ้น
  • บูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายในการดำเนินกิจการของมูลนิธิฯ
  • จัดระบบการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การปฏิบัติงานทั้งภายในและภายนอกให้เป็นเอกภาพและมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างความตระหนักรู้ ให้แก่สังคมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนตาบอด
  • พัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และงานฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
  • ประสานงานกับองค์กรภายนอกเพื่อการจ้างงานและสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากร
รูปภาพโลโก้มูลนิธิ